Aug 26, 2009

สาเหตุของปัญหาเครื่องคอมพิวเตอร์แฮงค์





วันนี้เราจะมาพูดถึงปัญหาคอมพิวเตอร์กัน เพราะว่าหลังจากที่เราใช้เครื่องไปสักระยะหนึ่ง ถ้าเครื่องของเราเกิดปัญหาขึ้น เช่น แฮงค์ไปเฉยๆ ไม่สามารถทำงานต่อได้ ต้องรีสตาร์ทเครื่องใหม่บ่อยๆ เราคงอยากทราบว่าสาเหตุและวิธีการแก้ปัญหาที่ทำให้คอมพิวเตอร์แฮงค์ ในหน้านี้เราจะรวบรวมปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลให้คอมพิวเตอร์ของท่านเกิดอาการแฮงค์ขึ้นมาพร้อมวิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้น่้

สำหรับปัญหาว่าทำไมเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราเกิดอาการแฮงค์ขึ้นมาเฉยๆนี้เป็นปัญหายอดนิยม และพบกันมากที่สุดในกลุ่มผู้ใช้คอมพิวเตอร์ และเป็นปัญหาที่ไม่ค่อยมีคนรู้สาเหตุมากที่สุด เราสามารถแบ่งแยกประเภทของสาเหตุที่ทำให้คอมพิวเตอร์เกิดอาการแฮงค์ได้ 2 ประการคือ

1. ฮาร์ดแวร์ หรือ 2. ซอฟท์แวร์และระบบปฏิบัติการ (OS) เราจะมาดูสาเหตุที่ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ของเราแฮงค์ พร้อมทั้งวิธีแก้ไขปัญหาทีละประการ

สาเหตุจากฮาร์ดแวร์ เราสามารถแยกปัญหาที่เกิดขึ้นจากฮาร์ดแวร์ได้ 4 ประเภทได้แก่
ความไม่เข้ากันของอุปกรณ์แต่ละตัว ปัญหานี้มักจะเกิดกับผู้ซื้อคอมพิวเตอร์ประเภทแยกชิ้นส่วนประกอบ ซึ่งอาการแฮงค์เหล่านี้จะเริ่มขึ้นตั้งแต่เราใช้เครื่องครั้งแรกๆเลย อาจจะเปิดเครื่องมาเฉยๆ แล้วก็แฮงค์ใช้งานนิดๆหน่อยๆ แล้วก็แฮงค์ ถ้าอาการหนักหน่อยอาจจะถึงขั้นไม่สามารถใช้เครื่องได้เลย ต้นตอของปัญหานี้เกิดจากการที่เราขาดการศึกษาเรื่องฮาร์ดแวร์ที่นำมาประกอบเป็นเครื่องของเรา อีกทั้งอาจเป็นไปได้ที่ผู้ขายนำอุปกรณ์คุณภาพต่ำมาประกอบเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีราคาถูกมาขายให้เราก็ได้

วิธีแก้ไขปัญหา ก็ควรจะเลือกใช้คอมพิวเตอร์แบรนด์เนมจะดีกว่า แต่ถ้าเกิดเราขัดสนปัญหาทางการเงิน เราก็ควรจะศึกษาจากการอ่านหนังสือ หรือถามจากบุคคลที่รู้จักที่เคยผ่านการใช้คอมพิวเตอร์มาแล้ว การศึกษาก่อนการตัดสินใจซื้อ จะเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณและเงินในกระเป๋าของคุณก็จะถูกใช้อย่างคุ้มค่าด้วย

ไดรเวอร์ล้าสมัย ไดร์เวอร์ คือ ซอร์ฟแวร์อย่างหนึ่งที่มีหน้าที่ในการสั่งการหรือเชื่อมโยงการทำงานระหว่างโปรแกรมประยุกต์ หรือระบบปฏิบัติการกับอุปกรณ์ต่างๆภายในเครื่อง เนื่องจากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมามากมายแต่ไดร์เวอร์ที่ออกมาก่อนหน้าที่จะมีอุปกรณ์ตัวใหม่ออกมาก็อาจจะทำงานร่วมกันได้ไม่ดีและเกิดอาการแฮงค์ได้ ซึ่งอาการหลักๆที่เกิดขึ้นกับไดร์เวอร์ คือ ถ้าเรามีการใช้งานอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ที่ไม่ได้มีการอัพเดทไดร์เวอร์ใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ จะเกิดหน้าจอสีฟ้าขึ้น ซึ่งถ้าเราไม่เข้าใจอาการหรือสาเหตุนี้ เราอาจคิดไปว่าเครื่องเสียจนต้อง Format เครื่องเลยก็มี

วิธีแก้ไขปัญหานี้ง่ายๆ ก็คือ ให้เราไปอัพเดทไดร์เวอร์อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่เว็บไซต์ของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ หรืออุปกรณ์ที่อยู่ภายในเครื่องของเรา

ฝุ่นคือตัวนำไฟฟ้า สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้เครื่องของเราแฮงค์ และอาจจะดูเป็นสาเหตุที่ทำให้คนคาดไม่ถึงได้ นั่นก็คือฝุ่นนั่นเอง เราอาจจะสงสัยว่า ทำไมฝุ่นจึงทำให้เกิดอาการแฮงค์ได้ ในความเป็นจริงแล้วฝุ่นดูจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คอมพิวเตอร์แฮงก์ เพราะฝุ่นเป็นตัวนำไฟฟ้าได้จะรุนแรงขนาดไหน ต้องขึ้นอยู่กับชนิดของฝุ่น และอีกสาเหตุที่ทำให้เครื่องแฮงก์ก็คือ บริเวณที่ฝุ่นเกาะ เช่น ถ้าเป็นบริเวณเมนบอร์ดวงจรจะไม่มีผล เพราะมีสารเคลือบกันเอาไว้ แต่บริเวณขาไอซีอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ต่างๆ ในเครื่อง ถ้ามีฝุ่นที่จะสามารถนำไฟฟ้าไปเกาะระหว่างขาสัญญาณ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เครื่องทำงานผิดพลาดหรือแฮงค์ได้

วิธีแก้ปัญหา คือ เราก็แค่ทำความสะอาดเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราอยู่เสมอ หรืออย่างน้อย 1 ครั้ง/สัปดาห์ เมื่อใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เสร็จ ก็ควรหาผ้าคลุมเครื่องกันฝุ่น สำหรับอุปกรณ์ภายในควรปรึกษาผู้ชำนาญในการทำความสะอาดส่วนนี้

สาเหตุจากซอร์ฟแวร์และระบบปฏิบัติการ
สาเหตุของคอมพิวเตอร์แฮงค์ที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่นั่นคือ ซอร์ฟแวร์และระบบปฏิบัติการ ซึ่งต้นตอของสาเหตุที่ซอร์ฟแวร์ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์แฮงค์ นั่นคือการทำงานผิดพลาดของโปรแกรม และยิ่งเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สนับสนุนการทำงานแบบใช้โปรแกรมหลายๆ โปรแกรมพร้อมกันได้ในเวลาเดียวกัน(Multitasking) จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้โปรแกรมภายในเครื่องของเราทำงานขัดแย้งกันสูงขึ้น เราจะมาดูสาเหตุหลักๆ ที่ซอร์ฟแวร์เป็นต้นตอของอาการแฮงค์ในคอมพิวเตอร์ของเรา

สาเหตุจากระบบปฏิบัติการ (Operating System)
ระบบปฏิบัติการ ถ้าเปรียบไปแล้วก็เหมือนกับแม่บ้าน ที่คอยดูแลรักษาบ้านของเราให้อยู่อย่างปกติสุข ซึ่งระบบปฏิบัติการจะทำการควบคุมโปรแกรมหรือฮาร์ดแวร์ ให้ทำงานตามคำสั่งเราอีกทีหนึ่ง อาการที่เราเรียกว่าแฮงค์ที่เกิดจากระบบปฏิบัติการ มักมีสาเหตุมาจากการควบคุมฮาร์ดแวร์ที่ผิดพลาด เช่น การควบคุมหน่วยความจำ เพราะโปรแกรมที่ทำงานระบบปฏิบัติการ Windows ในขณะใดขณะหนึ่งไม่ได้มีแค่โปรแกรมเดียว ดังนั้นระบบปฏิบัติการจึงต้องคอยบริการและควบคุมการใช้งานฮาร์ดแวร์ เพื่อป้องกันการตีกันเองระหว่างโปรแกรมที่ทำงานในขณะนั้น ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างโปรแกรมที่ทำงานอยู่ภายในแต่ละเครื่อง ก็แตกต่างกันตามผู้ใช้แต่ละคน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะออกแบบระบบปฏิบัติการ ให้ปราศจากข้อผิดพลาดในการควบคุมการทำงานระหว่างโปรแกรม แนวทางการแก้ปัญหาคอมพิวเตอร์แฮงค์นั้นคือ การหลีกเลี่ยงการทำงานที่เคยพบว่าทำให้แฮงค์ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องลงระบบใหม่ ซึ่งอาการอาจจะดีขึ้น หากอาการแฮงค์นั้นเกิดเพราะไฟล์บางไฟล์ของระบบปฏิบัติการถูกแก้ไขไปด้วยโปรแกรมอื่น ซึ่งปัญหาลักษณะนี้จะเกิด และมีวิธีแก้ไขเหมือนกันทุกเครื่องที่มีองค์ประกอบในลักษณะเดียวกัน

สาเหตุจากไดรเวอร์
ไดร์เวอร์ คือโปรแกรมที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อการสั่งงานจากระบบปฏิบัติการ ไปยังฮาร์ดแวร์ของแต่ละผู้ผลิต โดยปกติแล้วไดรเวอร์จะมีโอกาสที่ทำให้เกิดอาการแฮงค์ไม่มากนัก อาการที่เคยพบเห็นก็คือเครื่องจะหยุดนิ่งไปเฉยๆเป็นเวลานาน และเกิดข้อผิดพลาดที่มีการบอกรายละเอียดข้อผิดพลาดขึ้น หรือไม่ก็อุปกรณ์ทำงานเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น

วิธีแก้ไขปัญหา ขอแนะนำให้อัพเกรดไดรเวอร์ของอุปกรณ์บ้างก็ดี ซึ่งอย่างน้อยมันก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการทำให้เครื่องคอมเราแฮงค์ และยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของฮาร์ดแวร์อีกด้วย

โปรแกรมแอพพลิเคชั่นที่ทำให้เครื่องแฮงค์
อาการแฮงค์ที่เกิดจากโปรแกรมประยุกต์ เป็นอาการที่พบได้บ่อยพอสมควร แต่สาเหตุจริงๆ เกือบทั้งหมดไม่ได้มาจากตัวโปรแกรมประยุกต์โดยตรง แต่มักเกิดจาการทำงานการทำงานของไฟล์บางตัว ที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงบางจุดของระบบปฏิบัติการ ทำให้ระบบรวนได้ อาการแฮงค์ในลักษณะนี้มักจะอยู่ในรูปของการที่เครื่องหยุดทำงานไปเฉยๆ โดยไม่ได้แสดงอะไรออกมาทั้งสิ้น(แม้แต่หน้าจอสีฟ้า) ซึ่งอาการเหล่านี้อาจจะเกิดกับเครื่องเพียงบางเครื่องเท่านั้น โดยที่เครื่องบางเครื่องใช้โปรแกรมเดียวกันอาจจะไม่เกิดอาการแฮงค์ โปรแกรมประยุกต์ที่ทำให้เครื่องแฮงค์มักจะเป็นโปรแกรมที่ซับซ้อนหรือมีการทำงานที่หลากหลายมากๆ

วิธีการแก้ไขปัญหา ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานโปรแกรมพวกนี้ เพราะฟังก์ชันการทำงานที่ซับซ้อนอาจจะเกินความจำเป็นและยังทำให้เครื่องรวนอีกด้วย

สำหรับอีกปัญหาหนึ่งที่เคยพบเห็นมากก็คือ General Protection Fault ซึ่งจะขึ้นมาเป็นกรอบโต้ตอบให้กด Close ได้อย่างเดียว บางคนอาจจะว่าร้ายแรงน้อยกว่า Blue Screen ก็ได้ เพราะไม่ตัดหน้าจอสวยๆ แล้วเปลี่ยนไปเป็นจอสีฟ้าแข็งทื่อ ซึ่งผลกระทบของอาการแฮงค์นี้ ก็จะทำให้เราไม่สามรถทำงานต่อไปได้และยังทำให้เราไม่สามรถเซฟงานที่เราทำไว้ได้อีกด้วย

ลักษณะปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเกิดจากโปรแกรมประยุกต์ ก็คือเครื่องเราเกิดอาการแฮงค์หลังจากที่ลงโปรแกรมใดๆลงไปนั่นเองทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นในจุดนี้ไม่เคยเกิดอาการแฮงค์ มักจะเกิดขึ้นเมื่อเราลงโปรแกรมเวอร์ชั่นใหม่ทับเวอร์ชั่นเก่า เพราะฉะนั้นเราควรจะถอนเวอร์ชั่นเก่าก่อนลงเวอร์ชั่นใหม่

คอมพิวเตอร์ติดไวรัส
อาการแฮงค์ที่เกิดจาการที่เครื่องเราติดไวรัส เป็นอาการที่ตรวจสอบได้ยากที่สุด เพราะไวรัสคอมพิวเตอร์นั้นเป็นโปรแกรมตัวหนึ่งที่สามทารถเข้ามาในเครื่องของเราได้หลายทาง ถ้าเราไม่เคยตรวจสอบไวรัสภายในเครื่องของเราเลย จนไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไปเลยก็มี อาการเครื่องแฮงค์ที่เกิดจากไวรัส มักจะเกิดกับจุดที่ไม่เคยแฮงค์ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย อีกทั้งก่อนหน้าที่จะแฮงค์นั้น มักจะแสดงอาการแปลกๆให้เรารับรู้ก่อน เช่น ทำงานช้าลงจนเรารู้สึกได้ หรือมีอาการกระตุกบ่อยๆ ในบางครั้งอาจจะมีไฟล์บางไฟล์โผล่เข้ามาโดยเราไม่สามารถหาต้นตอได้ บางคนอาจจะไม่ยอมรับว่า เครื่องติดไวรัส เพราะต่างเชื่อมั่นในโปรแกรมป้องกันไวรัสของตน

วิธีการแก้ไขปัญหา เราจึงไม่ควรเปิดโปรแกรมหรือเอกสารที่เราไม่รู้จักหรือไม่มั่นใจ นอกจากนี้ควรตรวจสอบไวรัสในเครื่องของเราบ้างและอัพเกรดโปรแกรมป้องกันไวรัสบ้างก็ดีนะ

ที่มา : ซุปเปอร์มิกซ์




No comments: