Apr 21, 2011

'นิ่ว' ในถุงน้ำดี


‘นิ่ว’ ในถุงน้ำดี เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่แฟน ๆ ถามไถ่เข้ามาพอสมควร ฉบับนี้จึงขออาสาไขปัญหาเรื่องนิ่วให้หายข้องใจกัน
   
ก่อนอื่นเลย “ถุงน้ำดี” เป็นอวัยวะที่มีหน้าที่เก็บน้ำดี และบีบตัวนำน้ำดีมาสู่ลำไส้เล็กผ่านทางท่อทางเดินน้ำดีและเป็นอวัยวะที่มีลักษณะเป็นถุงคล้ายถุงกาแฟ ตำแหน่งของ
ถุงน้ำดีจะอยู่บริเวณช่องท้องด้านขวาบนและอยู่ใต้ท่อตับกลีบขวา  ซึ่งน้ำดีมีหน้าที่ช่วยในการย่อยไขมันเมื่อรับประทานอาหารที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบ

นิ่วในถุงน้ำดีเกิดขึ้นได้อย่างไร?
   
เกิดจากความผิดปกติของส่วนประกอบท่อน้ำดีที่มีคอเลสเตอรอล และบิลิรูบิน ซึ่งก็คือส่วนประกอบที่เกิดจากการทำลายเม็ดเลือดแดงที่หมดสภาพการทำงานแล้วในสัดส่วนที่ผิดปกติไป นิ่วในถุงน้ำดีนั้นสามารถพบได้ร้อยละ 10  ถึง 15 ในผู้ใหญ่ โดยส่วนมากจะพบในผู้หญิงราว 10% และในผู้ชาย 6.5% โดยเพียงแค่ 30% ในผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดีเท่านั้นที่จะแสดงอาการ

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีมีอะไรบ้าง?
   
ส่วนมากจะพบนิ่วในถุงน้ำดีในผู้หญิงได้มากกว่าในผู้ชาย หากมีน้ำหนักตัวมาก หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 30% ก็มีโอกาสเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้มาก ส่วนในผู้ที่ลดน้ำหนักลงอย่างรวดเร็ว (ลดความอ้วน) ก็มีความเสี่ยงได้ด้วยเช่นกัน

อาการที่พบเป็นอย่างไร?
   
จะมีอาการปวดท้องบริเวณท้องด้านขวาส่วนบน ซึ่งจะปวดอยู่นานเป็นชั่วโมงกว่าอาการจะดีขึ้น และมักจะมีอาการเวลากลางคืน และหลังทานอาหารเย็น นอกจากนี้ยังมีอาการปวดร้าวที่เอวด้านขวา หรือสะบักขวาได้ อาการอื่น ๆ ที่พบได้อีกเช่น มีอาการปวดร้าวทะลุหลังตรงกลางท้อง อาการตาเหลืองตัวเหลืองหรือมีดีซ่าน ร่วมกับมีไข้

การวินิจฉัยของแพทย์
   
เมื่อมาพบแพทย์ แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายโดยละเอียด จากนั้นจะทำการส่งตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องท้อง เพื่อดูว่ามีนิ่วในถุงน้ำดีหรือไม่ ซึ่งเป็นการตรวจที่ง่ายและไม่เจ็บตัว

เมื่อตรวจพบว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดีแล้ว มีวิธีการรักษาอย่างไร?
   
เมื่อตรวจพบว่ามีนิ่วในถุงน้ำดีแล้วนั้นไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทุกราย การรักษาจะทำการผ่าตัดได้ก็ต่อเมื่อมีอาการของนิ่วในถุงน้ำดี หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจากนิ่วในถุงน้ำดีแล้ว อย่างเช่นถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วตกมาอยู่ในท่อน้ำดีเกิดท่อน้ำดีอักเสบ ตับอ่อนอักเสบจากนิ่ว เป็นต้น
   
การรักษาโดยการผ่าตัดนั้น จะตัดถุงน้ำดีออกทั้งหมด ไม่ใช่แค่เอานิ่วออกอย่างเดียวเท่านั้นเพราะการเอานิ่วออกอย่างเดียวไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ ซึ่งการรักษาแบ่งออกเป็น
   
การส่องกล้องผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก ซึ่งเป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน ในกรณีนิ่วในถุงน้ำดีที่มีอาการและแม้กระทั่งในกรณีถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน มีวิธีการรักษาคือ ผู้ป่วยนั้นต้องดมยาสลบและจะมีแผลที่หน้าท้องขนาด 1.0-1.5 เซนติเมตร หรือขนาด 5 มิลลิเมตร จำนวน 3-4 แผล ทั้งนี้ก็แล้วแต่เทคนิคของศัลยแพทย์แต่ละท่าน ซึ่งการผ่าตัดแบบนี้จะทำให้แผลมีขนาดเล็ก และมีการฟื้นตัวของผู้ป่วยจะเร็ว กลับบ้านได้เร็ว
   
การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง ในกรณีที่ไม่สามารถทำผ่านการส่องกล้องได้ เช่น เกิดอันตรายต่อท่อน้ำดีหรือเส้นเลือด หรือทำการผ่าตัดเปิดท่อน้ำดี ร่วมกับการทำผ่าตัดทำทางเชื่อมท่อน้ำดีกับลำไส้ใหม่ ก็จะมีแผลบริเวณใต้ชายโครงขวาขนาดใหญ่
   
ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีอาการแสดงนั้นไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทุกราย ยกเว้นในกรณีที่มีนิ่วขนาดใหญ่มากกว่า 2.5–3 เซนติเมตร หรือมีแคลเซียมเกาะอยู่ที่ผนังถุงน้ำดี หรือพบว่ามีติ่งเนื้อในถุงน้ำดี หรือมีโรคเลือดบางชนิด ซึ่งแน่นอนว่าการผ่าตัดอาจไม่ใช่หนทางในการรักษาที่เหมาะสม อาจต้องหาวิธีในการรักษารูปแบบอื่นต่อไป
   
หลังผ่าตัดถุงน้ำดีจะไม่มีถุงน้ำดีแล้ว จะมีผลต่อชีวิตประจำวันหรือไม่?
   
โดยปกติน้ำดีจะสร้างมาจากตับและเก็บในถุงน้ำดี เมื่อไม่มีถุงน้ำดีแล้วก็สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้ตามปกติ  แต่ในกรณีที่กินอาหารที่มีไขมันสูงอาจทำให้มีอาการปวดจุกแน่นท้องได้ หรือมีท้องอืดได้เล็กน้อย.

นพ.ณรงค์ศักดิ์ รุ่งสกุลกิจ
หน่วยศัลยศาสตร์ตับ ตับอ่อน และทางเดินน้ำดี

 * ข่าวประชาสัมพันธ์ * ขอเชิญเข้าร่วมกิจกรรมเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนโดยการจัดบรรยายพิเศษเรื่อง “นิ่วและมะเร็งในถุงน้ำดี” ในวันที่ 28 เมษายน 2554 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชั้น 5 ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยแนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพ โทร. 0-2201-2521

จาก หมอรามา ไขปัญหาสุขภสพ เดลินิวส์



Thank you : Fw.Mails & เมืองไทยร้อนจัง

No comments: