Aug 13, 2009

ดอกมะลิ






ชื่อไทย : มะลิ / ชื่อสามัญ (Common name) : Jasmine
ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name) : Jasminum tuberosa spp.
ชื่อวงศ์ (Family) : Oleaceae / ถิ่นกำเนิด (Native) : เขตร้อนหรือเขตกึ่งร้อนชื้น




มะลิเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่นับวันมีความสำคัญมากขึ้นประโยชน์ที่ด้รับจากมะลิ เช่น เก็บดอกสำหรับทำพวงมาลัย ดอกไม้แห้ง อุตสาหกรรมน้ำมันหอมระเหย แล้วยังมีประโยชน์รวมถึงใช้เป็นพืชสมุนไพรรักษาโรคได้ เช่น มะลิซ้อนดอกสดใช้รักษาโรคตาเจ็บ แก้ตัวร้อน แก้หวัด เป็นต้น พื้นที่การปลูกมะลิของประเทศไทยในปี 2534 จำนวน 3,800 ไร่ แหล่งปลูกอยู่ในเขตจังหวัด นครสวรรค์ พิษณุโลก ลำพูน หนองคาย สมุทรสาคร และนครปฐม เขตจังหวัดที่ปลูกมากที่สุด คือ นครปฐม ซึ่งปลูกถึง 1,964 ไร่ การส่งออกในปี 2534 จะส่งออกในรูปของดอกมะลิมูลค่า 23,990 บาท ส่งออกในรูปของต้นมะลิ มูลค่า 9,855 บาท และในรูปพวงมาลัย มูลค่าถึง 3,293,225 บาท ตลาดของมะลิในต่างประเทศที่สำคัญคือ เนเธอแลนด์ อเมริกา และเบลเยี่ยม ส่วนตลาดพวงมาลัยของไทยคือ อเมริกา และญี่ปุ่น




มะลิมีลักษณะต้นเป็นไม้พุ่ม ไม้เลื้อย และไม้รอเลื้อย ใบมีทั้งใบเดี่ยวและใบรวม การจัดเรียงตัวของใบมีทั้งแบบใบอยู่ตรงกันข้าม ใบแบบสลับกัน ดอกมีสีขาว กลีบดอกมีชั้นเดียวและหลายชั้น เป็นดอกเดี่ยวและดอกช่อดอกจะออกจากยอดหรือข้างกิ่งส่วนมากมีกลีบเลี้ยง 4-9 กลีบ กลีบดอกมี 4-9 กลีบ โดยปกติดอกจะเริ่มบานในเวลาบ่ายแล้วร่วงในวันรุ่งขึ้น มะลิจะให้ดอกมากในฤดูร้อนและฤดูฝนแล้วจะน้อยที่สุดในฤดูหนาว




1). มะลิลา เป็นไม้รอเลื้อย กิ่งอ่อนและกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนมีขน ใบเป็นใบเดียวออกเป็นคู่ตรงกันข้ามกัน ใบเป็นรูปไข่ขอบเรียบ ดอกออกเป็นช่อ มี 3 ดอก ดอกกลางบานก่อน กลีบดอกชั้นเดียว ปลายกลีบมน ดอกสีขาว มะลิชนิดนี้ จะใช้ในการเด็ดดอกขาย

2). มะลิลาซ้อน ลักษณะต้น ใบ อื่น ๆ คล้ายมะลิลา แต่ใบใหญ่กว่าดอกออกเป็นช่อ มี 3 ดอก และดอกกลางบานก่อน เช่นกัน แต่มีดอกซ้อน 3-4 ชั้น ปลายกลีบมน

3). มะลิถอด ลักษณะโดยทั่ว ๆ ไป ทั้งต้น ใบ การจัดเรียงของใบ รูปแบบของใบคล้ายมะลิลาซ้อน แต่ใบเป็นคลื่น ดอกเป็นช่อมี 3 ดอก ดอกซ้อนมากชั้นกว่า คือ 3-6 ชั้น ดอกสีขาว มีกลิ่นหอมมาก ขนาดดอก 2.5-3.5 ซม.

4). มะลิซ้อน ลักษณะทั่ว ๆ ไปคล้ายมะลิถอด และมะลิลาซ้อน แต่ใบมีลักษณะแคบกว่า ดอกออกเป็นช่อมี 3 ดอกเช่นกัน กลีบดอกซ้อน แต่ซ้อนกว่า 5 ชั้น แต่ละชั้นมีกลีบดอก 10 กลีบ ขึ้นไป ขนาดดอก 3-4 ซม. ดอกสีขาว กลิ่นหอมมาก

5). มะลิพิกุล หรือมะลิฉัตร ลักษณะต่าง ๆ คล้ายกับ 4 ชนิดแรก ใบคล้ายมะลิซ้อนและมีคลื่นเล็กน้อย ดอกเป็นช่อ 3 ดอก ดอกซ้อนเป็นชั้น ๆ เห็นได้ชัด (คล้ายฉัตร) และดอกมีขนาดเล็กพอ ๆ กับดอกพิกุล ขนาดดอก 1-1.4 ซม. ดอกสีขาว กลิ่นหอม

6). มะลิทะเล เป็นไม้รอเลื้อย ดอกเป็นกระจุก ๆ หนึ่ง มี 5-6 ดอก กลิ่นหอมฉุน

7). มะลิพวง ลำต้นเป็นไม้พุ่ม กิ่งอ่อนและกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนมีขนเห็นเด่นชัดเช่นกัน ใบและรูปแบบตลอดจนการจัดเรียง คล้ายมะลิอื่น ๆ แต่ใบมีขนเห็นเด่นชัด ดอกออกเป็นช่อแน่น สีขาวกลีบดอกชั้นเดียว กลีบเล็กยาว ปลายแหลม ขนาดดอก 3-4.5 ซม. มีกลิ่นหอมมาก

8). มะลิเลื้อย ลำต้นเลื้อยไปตามพื้นดินยาวประมาณ 1 ฟุต ใบเล็กกว่าพันธุ์อื่นมาก

9). มะลิวัลย์หรือมะลิป่า เป็นไม้เถาเลื้อย พาดต้นไม้อื่นหรือขึ้นร้าน ใบเล็กกว่าและยาวกว่ามะลิอื่น ๆ กลีบดอกเล็กยาว สีขาว กลิ่นหอมเย็นชืด

10). พุทธิชาติ เป็นไม้รอเลื้อย ใบเป็นใบเดี่ยวแต่ใบด้านล่างลดขนาดลงมากจนมีลักษณะคล้ายหูใบ ดอกเป็นช่อ ออกที่ปลายกิ่ง และข้างกิ่ง ดอกสีขาว ปลายกลีบมน ก้านดอกยาว

11). ปันหยี ต้นเป็นไม้เลื้อยเช่นเดียวกับมะลิวัลย์ ใบเดี่ยว การออกของใบเช่นเดียวกันแต่ใบมีขนาดใหญ่กว่า ใบเป็นมันสีเขียวเข้ม หนาและแข็ง ดอกเป็นดอกช่อ สีขาวกลีบดอกใหย่กว่ามะลิวัลย์ กลีบดอกกว้างและมน ดอกชั้นเดียว ขนาดดอก 4-4.5 ซม. กลิ่นไม่หอม

12). เครือไส้ไก่ เป็นไม้รอเลื้อย กิ่งอ่อนและกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนมีขน ใบเดี่ยว ปลายใบแหลม สีเขียวเข้มเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อดอกกลางบานก่อน กลีบดอกขาว ชั้นเดียวปลายกลีบแหลม

13). อ้อยแสนสวย เป็นไม้เลื้อย กิ่งอ่อนสีม่วงแดง ไม่มีขน กิ่งแก่สีน้ำตาล ใบเดี่ยว ขนาดใหญ่ก้านใบสีม่วง ดอกออกเป็นช่อมี 8 ดอก ดอกกลางบานก่อน ก้านดอกยาว กลีบดอกขาว ชั้นเดียวปลายกลีบมน

14). มะลิเขี้ยวงู (มะลิก้านยาว) เป็นไม้เลื้อย แตกกิ่งก้านมาก ไม่มีขน ใบออกเป็นช่อคล้ายใบแก้ว แต่บางกว่า ดอกออกเป็นช่อมี 3 ดอก ก้านดอกเป็นหลอดสีแดงอมม่วง กลีบดอกขาว กลิ่นหอมจัด นอกจากนี้ยังมีมะลิอื่น ๆ อีกเช่น มะลิฝรั่ง, มะลิเถื่อน ฯลฯ แต่มะลิที่นิยมปลูกเป็นการค้าในปัจจุบัน ได้แก่ มะลิลา มีชื่อวิทยาศาสตร์ Jasminum sambac และที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นเรื่องของมะลิลา


มะลิลาพันธุ์ที่ส่งเสริมและนิยมปลูกมี 3 พันธุ์คือ


1). พันธุ์แม่กลอง

2). พันธุ์ราษฎร์บูรณะ

3). พันธุ์ชุมพร
ลักษณะที่แตกต่างกันของทั้ง 3 พันธุ์นี้คือ

การขยายพันธุ์ มะลิลาที่นิยมทำกันมากที่สุด คือ การปักชำ ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำได้ง่ายสะดวกและรวดเร็ว นิยมทำเป็นเชิงการค้าซึ่งมีวิธีการทำได้ ดังนี้
1). วัสดุเพาะชำ ใช้ทรายผสมขี้เถ้าแกลบอัตราส่วน 1:1 บรรจุในตะกร้าพลาสติกที่เตรียมไว้ รดน้ำให้ชุ่ม

2). การเตรียมกิ่งพันธุ์ กิ่งที่ใช้จะเป็นกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน ตัดให้มีความยาวของกิ่งประมาณ 4 นิ้ว หรือมีข้ออย่างน้อย 3 ข้อ การตัดกิ่งควรจะตัดให้ชิดข้อ เหลือใบคู่บนสุด 1 คู่ ตัดใบออกให้เหลือเพียง ฝ ใบ เพื่อลดการคายน้ำ ถ้าต้องการเร่งรากควรใช้ฮอร์โมนช่วย โดยใช้ IBA (Indole Butyric Acid) และ NAA (Naphthalene Acetic Acid) ในอัตราส่วน 1:1 ความเข้มข้น 4,500 ppm นำกิ่งมะลิไปจุ่มในฮอร์โมนที่เตรียมไว้

3). การปักชำ นำกิ่งที่เตรียมไว้ ปักชำลงในภาชนะเพาะ ปักชำเรียงเป็นแถว แต่ละแถวห่างกัน 2 นิ้ว ระยะห่างระหว่างกิ่ง 2 นิ้ว รดน้ำ และยากันรา เช่น แคปแทนรักษาความชื้นให้สม่ำเสมอ ถ้าจะให้ดี ควรวางภาชนะไว้ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ รวบปากถุงให้สูงนำไปผูกไว้กับกิ่งหรือท่อนไม้ เพื่อยึดปากถุงมิให้กดทับกิ่ง นำไปวางไว้ในที่ร่ม หรือร่มรำไร กิ่งปักชำจะออกรากภายใน 3 อาทิตย์ ในกรณีที่ต้องการขยายพันธุ์เป็นการค้า ให้ปักชำในกะบะปักชำที่สร้างไว้ในร่มวัสดุปักชำที่ใช้อาจเป็นขี้เถ้าแกลบเพียงอย่างเดียว โดยใส่ลงในกะบะประมาณ 50 ซม. นำกิ่งปักชำแล้วคลุมด้วยพลาสติกให้มิดชิด ทิ้งไว้ 3 อาทิตย์ กิ่งมะลิ จะออกรากประมาณ 90%

4). หลังจากกิ่งปักชำออกรากแล้ว ให้นำไปเลี้ยงต่อในถุงขนาด 2 x 3 นิ้ว โดยใส่ดิน + ขุยมะพร้าว + ปุ๋ยคอก อัตรา 3:1:1 จนต้นมะลิแข็งแรงดี แล้วจึงนำไปปลูกต่อไป


การเตรียมดิน
เนื่องจากมะลิชอบดินร่วนซุย ระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุสูงและธาตุอาหารเพียงพอ การเตรียมดินควรไถพรวนแล้วใส่ปุ๋ยคอก ถ้าจะปลูกมะลิให้ได้ผลดี อายุยืนยาวควรจะขุดหลุมลึก กว้างและยาว ด้านละ 50 ซม. โดยใช้ระยะปลูก 1 x 1 เมตร ปรุงดินโดยใช้ดิน + ปุ๋ยคอก + และใบไม้ผุ อัตราส่วน 1:1:1 พร้อมกับเติมปุ๋ยสูตร 15-15-15 และ 0-46-0 (ซุปเปอร์ฟอสเฟต) อย่างละ 1 กำมือ คลุกเคล้าทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้วใส่กลับลงไปในหลุมใหม่

การดูแลรักษา

1). การให้น้ำ มะลิต้องการน้ำพอสมควร หากดินยังแฉะอยู่ไม่ควรรดน้ำ ควรรอจนกว่าดินจะแห้งหมาด ๆ เสียก่อน ทั้งนี้อาจให้น้ำวันละครั้งหรือสองวันครั้งถึงอาทิตย์ละครั้งก็ได้โดยให้ในตอนเช้า แต่ระวังอย่าให้น้ำท่วมหรือขังอยู่ในแปลงนาน ๆ เพราะจะทำให้มะลิใบเหลือง แคระแกรน และตายได้
2). การใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15, 16-16-16 อัตราขึ้นอยู่กับขนาดของทรงพุ่มใส่เดือนละครั้ง โดยการหว่านและรดน้ำตามด้วย นอกจากนี้ยังใช้ปุ๋ยน้ำ เช่น ไบโฟลาน ผสมฉีดไปพร้อมกับสารเคมีด้วย แต่ไม่นิยมใช้ในฤดูหนาว



มะลิหากปลูกไปนาน ๆ จะแตกกิ่งก้านสาขามากมายควรจะตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง รวมทั้งตัดกิ่งแห้งและตายออกด้วย จะช่วยให้มะลิมีโรคและแมลงรบกวนน้อยลง อายุยืนยาวขึ้น ให้ดอกดกมากขึ้นพร้อมจะช่วยให้เกษตรกรสะดวกในการปฏิบัติงานด้วย



การเก็บดอก ดอกของมะลิที่จะเก็บขายได้ จะเก็บดอกที่อีก 1 วันจะบาน ดอกจะมีสีขาวเด่นชัดโดยปกติดอกกลางจะบานก่อนเก็บในช่วงเช้ามืดเวลาประมาณ 03.00 น.-06.00 น. แล้วจึงนำไปขายตลาดตอนเช้า



นิยมใช้ยากรัมม็อกโซนฉีดตามร่องปลูกทุกเดือน โดยไม่ให้โดนต้นมะลิ
โรคแมลงและการป้องกันกำจัด

1). โรครากเน่า เกิดจากเชื้อรา เป็นโรคร้ายแรงชนิดหนึ่งซึ่งจะเกิดกับมะลิที่มีอายุมากกว่า 1 ปี อาการ มะลิจะเหลือง เหี่ยว และทิ้งใบ เมื่อขุดต้นดูพบว่า รากเน่าเปื่อยและที่โคนมีเส้นใยสีขาว การป้องกันกำจัด ต้นที่เป็นโรคให้ถอนต้นและดินในหลุมไปเผาไฟ แล้วใช้ปูนขาวหรือสารเคมีพวกเทอราคลอผสมน้ำราดลงดิน

2). โรคแอนแทรคโนส เกิดจากเชื้อรา อาการ จะพบจุดสีน้ำตาลอ่อน บนใบขอบแผลเป็นสีน้ำตาลแก่เห็นเด่นชัด แผลจะขยายลุกลามออกไป และมีลักษณะเป็นวงซ้อนกัน เนื้อเยื่อของแผลแห้งกรอบตรงกลางแผลเวลาอากาศชื้น ๆ จะพบสปอร์เกิดเป็นหยดสีส้มอ่อน ๆ ขนาดแผลขยายใหญ่ไม่มีขอบเขตจำกัดจนดูเหมือนโรคใบแห้ง การป้องกันกำจัด ใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อราฉีดพ่น เช่น ดาโคนิล เบนเลท
3). โรครากปม เกิดจากไส้เดือนฝอย การเกิดโรคนี้จะพบได้เฉพาะในบางพื้นที่เท่านั้น ต้นที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการเด่นชัดทางใบคือใบจะมีสีเหลืองด่าง ๆ ทั่วไปทั้งใบคล้ายกับการแสดงอาการขาดธาตุอาหารเนื่องจากไส้เดือนฝอยจะไปอุดท่อน้ำท่ออาหารไว้เมื่อถอนต้นดูจะพบว่าที่รากมีปมเล็ก ๆ อยู่ทั่ว ๆ ไป ถ้าเฉือนปมนี้ดูจะพบถุงสีขาวเล็ก ๆ ขนาดเมล็ดผักกาดฝังอยู่ การป้องกันกำจัด ปลูกมะลิสลับกับพืชอื่น และใส่ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น และใช้สารเคมีป้องกันกำจัด เช่น ฟูราดาน ไวเดท
4). หนอนเจาะดอก ลักษณะลำตัวสีเขียวขนาดเล็ก ปากหรือหัวดำ ระบาดมากในฤดูฝน โดยการ กัดกินดอกทำให้ดอกผิดรูปร่างไป เป็นแผล เป็นรู การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีป้องกันกำจัด เช่น แลนเนต โบลสตาร์ ฉีดพ่น
5). หนอนกินใบ จะระบาดมากในฤดูฝน โดยจะพับใบมะลิเข้าด้วยกัน แล้วซ่อนตัวอยู่ในนั้น และจะกัดกินทำลายใบไปด้วย การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีประเภทโมโนโครโตฟอส เช่น อโซดริน อัตรา 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 4-6 วัน เมื่อมีการระบาด
6). หนอนเจาะลำต้น จะทำลายโดยการเจาะลำต้น ทำให้ต้นแห้งตาย อาการเริ่มแรกต้นจะมีใบเหลือง และหลุดร่วง ตรงบริเวณโคนต้นจะมีขุยไม้ที่เกิดจากการกัดกินของตัวหนอนกองอยู่เห็นได้ชัดเจน การป้องกันกำจัด ถ้าพบต้องรีบทำลายโดยทันที โดยการถอนต้นมะลิและทำลายตัวหนอนเสีย
7). เพลี้ยไฟ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและดอก ทำให้ส่วนที่ถูกทำลาย หงิกงอ แคระแกรน เสียรูปทรง การป้องกันกำจัด ใช้สารเคมีฉีดพ่น เช่น พอสซ์ คูมูลัส


ราคาของดอกมะลิในช่วงฤดูหนาวจะแพงมากบางปีตกราลิตรละ 600-700 บาท (ปากคลอกตลาด) ส่วนฤดูร้อน เฉลี่ยราคาลิตรละ 30 บาท ตลาดของดอกมะลิตลาดใหญ่อยู่ที่ ตลาดปากคลองตลาด และร้านดอกไม้โดยทั่วไปตามท้องตลาด



เทคนิคการบังคับการออกดอกในฤดูหนาว มีการปฏิบัติดังนี้

1). การตัดแต่งกิ่ง
มะลิจะมีช่วงตั้งแต่เก็บดอกจนถึงตากิ่งเจริญให้ดอกใหม่อีกครั้งใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นถ้าต้องการให้มะลิออกดอกในเดือนใดต้องนับย้อนหลังเวลาตัดแต่งกิ่งถอยหลังไป 6 สัปดาห์ และเมื่อต้องการให้มะลิออกดอกในฤดูหนาว (มค.-กพ.) เวลาที่เหมาะสมในการตัดแต่งกิ่งคือ เดือน สิงหาคม-กันยายน วิธีการตัดแต่งทำดังนี้
1.1) แบบที่เหลือกิ่งไว้กับต้นยาว โดยการตัดแต่งกิ่งออกเพียงเล็กน้อยให้เหลือกิ่งที่สมบูรณ์ไว้ วิธีนี้เหมาะกับมะลิที่มีอายุน้อย ๆ
1.2) แบบที่เหลือกิ่งไว้กับต้นสั้น โดยการตัดแต่งให้เหลือเพียง 3-4 กิ่งแต่ละกิ่งสูงประมาณ 1-1.5 ฟุต วิธีนี้เหมาะกับมะลิที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป
2). การใส่ปุ่ย
เมื่อตัดแต่งกิ่ง (สค.-กย.) แล้วต้องทำการให้น้ำและให้ปุ๋ยในเดือนกันยายนและตุลาคม โดยใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15, 16-16-16 อัตรา 30 กรัมต่อต้น และในเดือนพฤศจิกายน ฉีดพ่นด้วย ไทโอยูเรีย 1% อัตรา 200 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร มะลิจะเริ่มออกดอกหลังจากนี้ประมาณ 20 วัน และเก็บดอกต่อเนื่องไปอีก 1 เดือน


ข้อมูลจาก สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์










No comments: